วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระจันทร์ใกล้โลก 2559

14 พฤศจิกายนนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี

4 พฤศจิกายน 2559
ในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่าง 356,511 กิโลเมตร ทำให้คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือที่มักเรียกกันว่า “Super Full Moon” สามารถสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป 


 ภาพที่ 1 เปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (ซ้าย) กับ ดวงจันทร์เต็มดวงปกติ (ขวา)

ดวงจันทร์ใกล้โลก และ ดวงจันทร์ไกลโลก
        ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน โดยในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 
 ภาพที่ 2 ตำแหน่งดวงจันทร์ขณะโคจรเข้าใกล้โลก – ไกลโลกในแต่ละเดือน

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง ขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุด (ซ้าย) กับ ไกลโลกมากที่สุด (ขวา)  ดวงจันทร์เต็มดวงขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด ประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30%

ตารางแสดงการเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon ครั้งต่อไป

วัน-เดือน-ปี

ระยะห่างจากโลก
(กิโลเมตร)
ขนาดปรากฏเชิงมุม
 (ลิปดา)
14 พฤศจิกายน 2559
356,511
33.52
2 มกราคม 2561
356,565
33.51
19 กุมภาพันธ์ 2562
356,761
33.49
8 เมษายน 2563
356,908
33.47
26 พฤษภาคม 2564
357,309
33.43
ตารางที่ 1 ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (พ.ศ. 2559 – 2564)

        แม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณทุกๆ 13 เดือน นอกจากนี้บางครั้งดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี จะเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาอีกด้วย หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์และโลก โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ครั้งล่าสุดดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในคืนจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย) และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นใน วันที่ 8 ตุลาคม 2576 (ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงขาออก)

ทำไมดวงจันทร์จึงดูมีขนาดใหญ่เมื่ออยู่ใกล้ขอบฟ้า???
        ผู้คนส่วนหนึ่งมักมีความเข้าใจผิดว่า ดวงจันทร์เต็มดวงเมื่ออยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้านั้นจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ขณะปรากฏกลางฟ้า เพราะเข้าใจว่าดวงจันทร์ขณะอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้าจะอยู่ใกล้โลกมากกว่า แท้จริงแล้วการที่ดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีขนาดปรากฏใหญ่กว่านั้น เป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด เช่น ภูเขา ต้นไม้ อาคาร เป็นต้น แต่บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาด จึงทำให้ความรู้สึกในการมองดวงจันทร์บริเวณกลางฟ้าดูมีขนาดเล็กกว่าปกติ เหตุการณ์ภาพลวงตาของดวงจันทร์ เรียกว่า “Moon Illusion”

ภาพที่ 3 ภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกขณะอยู่บริเวณขอบฟ้า ในวันที่ 28 กันยายน 2558

พื้นผิวดวงจันทร์
       การสังเกตการณ์ดวงจันทร์ เราสามารถจำแนกพื้นผิวดวงจันทร์ได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่สีอ่อน เรียกว่า “พื้นที่สูง หรือ Highland” เป็นพื้นผิวที่มีระดับความสูงมากกว่ากว่าบริเวณอื่น มีสภาพขรุขระ และมีหลุมอุกกาบาต อีกส่วนหนึ่งคือ พื้นที่สีเข้ม เรียกว่า “ทะเล หรือ Mare” เป็นที่ราบที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่ถูกลาวาเอ่อขึ้นมากลบเมื่อระหว่างช่วง 2.5 – 4 พันล้านปีที่ผ่านมา ทำให้มีสภาพค่อนข้างเรียบ

ภาพที่ 4 แผนที่ดวงจันทร์แสดง “ทะเล” และ “หลุมอุกกาบาต” บนดวงจันทร์



ข้อมูลโดย :
ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร.

เผยแพร่โดย :
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: pr@narit.or.th     Website : www.narit.or.th
Twitter : @N_Earth,  Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313