วันครูโลก (World Teachers' Day) ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 5 ตุลาคม 2537 เป็นผลจากการประชุมสัมมนาทางการศึกษานานาชาติขององค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2537 เพื่อประกาศยกย่องครูให้เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้ที่ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
หลังจากนั้น 10 ปี วันครูโลกในประเทศไทย สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยและคุรุสภา ได้ร่วมกับองค์กรการศึกษาต่าง ๆจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2547 เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้สังคมรับรู้และตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของครู พร้อมจัดพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติคุรุสดุดีในโอกาสเดียวกัน
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงาน มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาระดับโลกมาบรรยายให้ความรู้ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการจัดงานฯ จึงมีมติให้จัดงาน วันครูโลก ขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่า มีหลายประเทศเลยที่กำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมหรือวันที่ใกล้เคียงเป็นวันครูแห่งชาติ เช่น ออสเตรเลีย อัฟกานิสถาน บัลกาเรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น บางประเทศก็เปลี่ยนจากวันครูเดิมมาเป็นวันที่ 5 ตุลาคมเพื่อให้สอดคล้องกับวันครูโลก เช่น รัสเซีย อาเซอร์ไบจัน ลิธัวเนีย เป็นต้น
เสียดายที่ประเทศไทยไม่ค่อยจะมีข่าวคราวเกี่ยวกับวันครูโลกมากนักว่าในแต่ละประเทศที่ประสบความสำเร็จหรือการที่ครูต้องออกไปเผชิญกับปัญหาในด้านต่างๆมาให้เห็นเป็นข้อเปรียบเทียบกับครูไทย จึงดูเป็นความแปลกแยกเป็นเอกเทศไม่ค่อยจะกลมกลืนจากกรอบของการศึกษาสากลตามที่องค์การยูเนสโกตั้งไว้เท่าใดนัก
อย่างไรก็ตามในปี 2557 ที่ผ่านมา ค่อนข้างจะมีความเป็นสากล ได้ทั้งเนื้อหาสาระหลักที่ควรนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาถึงตัวครูและนักเรียนกันจริงๆ อาจจะเป็นเพราะ คุรุสภาเป็นเจ้าภาพหลัก กับ UNESCO SEMEO สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมกันจัด
มีการนำเสนอการวิจัยเอกสาร ประเด็น Teaching Profession in ASEAN กรณีศึกษาเป็นรายประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาราม กัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ลาว และพม่า และประเทศติมอร์เลสเต้
คึกคักทั้ง Workshop เสนอผลงานที่เป็น Best Practice พร้อมวิทยากรรับเชิญ (Keynote speaker) ถ่ายทอดกิจกรรมจากส่วนกลางไปยังมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานวันครูโลก
ที่น่าสนใจกับนิทรรศการยกย่องเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของครูโลกและสถานการณ์ทางการศึกษา
แต่เมื่อจบงานแล้ว ทุกอย่างกลายเป็นการจบตามแบบบริบูรณ์ที่ไม่มีอะไรเหลือไว้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์ สู่การใช้ประโยชน์ในการสานต่อสำหรับการศึกษาไทย ครูไทย ที่ยังต้องก้าวไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21 อย่างที่มักกล่าวอ้างกัน
ถามว่า วิจัยเอกสาร ประเด็นTeaching Profession in ASEAN กรณีศึกษาเป็นรายประเทศ อาเซียนทั้ง 10 ผลงานที่เป็น Best Practice และ Keynote speaker ตอนนี้อยู่ที่ไหน ใครดูแลรับผิดชอบ มีการถอดรหัสหรือบทเรียน ให้สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาชาติ รวมไปถึงบรรดานักการเมืองที่หมุนกันเข้ามาดูแลแล้วชอบคิดเอง เออเองได้เห็นได้ใช้ประโยชน์หรือเผยแพร่
กันอย่างแพร่หลายกว้างขวางแค่ไหนเพียงใดหรือไม่
งานจบแล้ว จบเลย นี่คือ พฤติกรรมอันเป็นปกติของหน่วยงานของประเทศไทย ที่เห็นได้ทั่วไปในแทบทุกงานทุกที่ แล้วเราจะเห็นว่าจะมีลักษณะการจัดงานร้อยเนื้อทำนองเดียวกันในอีกหลายงานในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ เพียงแต่เปลี่ยนหัวเรื่อง เปลี่ยนวิทยากร กันใหม่เท่านั้น
ปีนี้ดูเหมือนงานใหญ่ในโอกาสวันครูโลก ได้จบไปอย่างสมบูรณ์ ไปแล้วพร้อมการประชุมสภาครูอาเซียนครั้งที่ 31 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “Creative and Productive Role of Teachers for ASEAN Community” โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่างๆ
ความน่าสนใจของงานนอกจากการเสวนาระหว่างประเทศแล้ว ยังมุ่งไปที่การเพิ่มจำนวนครู ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของครูที่มีต่อคนรุ่นใหม่ และบทบาทของครูต่อสังคม และการเพิ่มจำนวนครู
สำหรับการเพิ่มจำนวนครูนั้น มุ่งเน้นการกระตุ้นต่อเนื่องให้นานาประเทศตะหนักถึงการเพิ่มจำนวนครู โดยประมาณการณ์ว่าภายในปี 2558 ทั่วโลกจะต้องการครู 5.24 ล้านคน ทดแทนครูที่ออกจากระบบ 3.66 ล้านคน และครูที่จะมารองรับการขยายตัวทางการศึกษาอีก 1.58 ล้านคน
ทั้งนี้แอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา ระบุว่าเป็นประเทศที่มีความต้องการครูติดอันดับสูงสุดของโลก คือ ต้องการครูจำนวน 9 แสนคน หรือร้อยละ 63 ของความต้องการครูทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ตั้งเป้าผลิตครูให้ได้ตามเป้าภายในปี 2558 ประกอบด้วยประเทศไนจีเรีย ปากีสถาน สาธารณรัฐโมซัมบิก อูกันด้า แทนซาเนีย เป็นต้น
นอกจากนี้ยูเนสโกยังได้รายงานสถานการณ์ของเด็กเยาวชนในปี 2555 พบตัวเลขที่น่ากังวลว่า ทั่วโลกมีเด็กระดับประถมศึกษาต้องออกจากระบบกว่า 57 ล้านคน และประมาณการณ์ว่ามีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขณะเรียนในเกรด 4 หรือระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 250 ล้านคน
ขณะที่ ประเทศไทย พบว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึงจะมีครูเกษียณรวมกันสูงถึง 180,000 คนเป็นอย่างน้อย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนครูในระบบการศึกษาในปัจจุบัน ที่จะต้องมีมาตรการทดแทนครูที่กำลังจะเกษียณจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งในระบบการศึกษานี้
ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียนอย่างมาก
ยกถึงการเปลี่ยนผ่านของการเกษียณอายุและการบรรจุครูใหม่ดังกล่าว จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทุกระบบการศึกษาทั่วโลก ที่จะผลิตและพัฒนาครูแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายในระบบการศึกษาในยุคนี้ที่มีทั้งปัญหาเก่า
ทั้งปัญหาการอ่านออกเขียนได้ และความท้าทายใหม่เช่นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ยังมีครูเป็นความสำคัญอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ที่จำนวนครูที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนครูเกษียณอายุ แต่หมายถึงคุณภาพของครูที่ต้องดีขึ้น
ไม่เพียงมีแค่เสียงเตือนจากยูเนสโกถึงความท้าทายของระบบการศึกษาของทั่วโลกดังมาอย่างต่อเนื่อง เท่านั้น แม้แต่ผู้บริหารระดับนโยบายของไทยเองก็ตระหนักถึงเช่นกันในการเห็นคุณค่าและความสำคัญของครู
ข้อคิดจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในการประชุมประจำปี 2557 ในเรื่อง "การพัฒนาคน...เพื่ออนาคตของประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า
"เราต้องการแก้ปัญหาการศึกษาให้ได้โดยเร็ว หากหวังว่าจะเห็นอนาคตประเทศไทยก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะท่ามกลางแนวโน้มสังคมสูงอายุ ทำให้เราเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบไปแล้วมีงานทำ
สิ่งสำคัญที่ต้องการแก้ปัญหาการศึกษา คือ การนำไปสู่แผนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยการบูรณาการทุกกระทรวง และมีการตั้งเป้าวางแผนการทำงานให้ชัดเจนเป็นระยะเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ผมเชื่อว่าคนไทยนั้นเก่งกันทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เชื่อมคนที่เก่งทุกคนให้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกันได้..”
นี่สิ คือ ปัญหา ที่จะทำอย่างไรที่จะนำคนเก่งๆทุกคนให้มาทำงานขับเคลื่อนร่วมกันได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น